Skip to content Skip to footer

ภาวะมีบุตรยาก กับสาเหตุในปัจจุบัน

สาเหตุของการเกิดภาวะมีบุตรยาก ภาวะที่กวนใจคู่สามีภรรยาที่อยากมีลูก

มีคำกล่าวที่ว่า “ลูก” คือของขวัญที่มีค่าที่สุดในชีวิต เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ชีวิตมีความพร้อมทั้งในด้านของหน้าที่การงาน ทรัพย์สินเงินทอง และเวลา คู่รักหลายคู่ ๆ ต่างก็อยากที่จะพัฒนาสถานะจากสามีภรรยาไปสู่การเป็นพ่อและแม่กันมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะมีลูกสักคนหนึ่งมาเป็นโซ่ทองคล้องใจเพื่อเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีคู่รักหลาย ๆ คู่ที่พยายามจะมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติอยู่หลายปีแต่กลับต้องเผชิญกับภาวะมีบุตรยากจนทำให้ไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ได้สำเร็จ วันนี้ Genesis Fertility Center จึงอยากจะขอพาคู่รักที่ต้องการจะก้าวเข้าสู่บทบาทของการเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้เลยว่า ภาวะมีบุตรยากคืออะไร และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คู่รักที่อยากมีลูกไม่สามารถมีลูกได้ตามที่ตั้งใจ

ทำความรู้จักกับภาวะมีบุตรยาก

เชื่อว่าคู่รักหลาย ๆ คู่ที่กำลังพยายามจะมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติอาจจะเคยเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “ภาวะมีบุตรยาก” ว่าจริง ๆ แล้วนั้นเราต้องใช้ระยะเวลาในการพยายามมีลูกมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่ากำลังประสบกับภาวะมีบุตรยาก หลักเดือน? หลักปี? หรือหลักหลายปี? ซึ่งถ้าหากพูดถึงการนิยามเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ในทางการแพทย์แล้วนั้น ภาวะมีบุตรยากจะหมายถึงการที่คู่สามีภรรยามีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคุมกำเนิดกันอย่างสม่ำเสมอ แต่ทว่าฝ่ายหญิงกลับไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือระยะเวลา 6 เดือนสำหรับฝ่ายหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะมีบุตรยากมักจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องของอาหารการกิน สุขภาพร่างกาย วิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยมีงานวิจัยระบุไว้ว่าสาเหตุของภาวะมีบุตรยากอาจเกิดขึ้นจากฝ่ายชายประมาณ 25% และเกิดขึ้นจากฝ่ายหญิง 40% หรือในบางกรณีอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่ายซึ่งจะคิดเป็น 20% ซึ่งตัวเลขของสาเหตุการเกิดภาวะมีบุตรยากเหล่านี้จะกล่าวรวมไปถึงฝ่ายชายที่มีภาวะเป็นหมัน และฝ่ายหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบเจอได้บ่อยในฝ่ายชาย

สำหรับสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบเจอได้บ่อยในฝ่ายชายส่วนใหญ่แล้วมักจะมีความเกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นและปัญหาสุขภาพในด้านต่าง ๆ จนนำไปสู่การทำให้เกิดความผิดปกติทางด้านร่างกายที่นำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

  • ภาวะฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (hypogonadism) ซึ่งสามารถส่งผลให้ลูกอัณฑะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) เป็นต้น
  • ภาวะอัณฑะบิด (testicular torsion) ซึ่งส่งผลทำให้เส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงลูกอัณฑะถูกตัดขาดจนทำให้ลูกอัณฑะไม่สามารถทำหน้าที่ในการสร้างอสุจิได้
  • ภาวะลูกอัณฑะไม่เข้าสู่ถุงอัณฑะ ซึ่งสามารถส่งผลทำให้ฝ่ายชายมีฮอร์โมนเพศชายผิดปกติหรือบกพร่อง จนส่งผลต่อสมรรภาพทางเพศที่ลดลง อีกทั้งยังอาจทำให้ฝ่ายชายเป็นหมันได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับเชื้ออสุจิ ไม่ว่าจะเป็นการที่เชื้อ หรือการประสบกับภาวะของการมีจำนวนอสุจิน้อย (Low sperm count) ซึ่งหมายถึงการที่น้ำเชื้อหนึ่งมิลลิลิตรมีจำนวนอสุจิที่น้อยกว่า 15 ล้านตัว หรือการที่อสุจิมีความสามารถในการเคลื่อนที่ต่ำ ตลอดจนอสุจิมีรูปร่างผิดปกติ และเชื้ออสุจิอ่อนแอ เป็นต้น
  • การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือการมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งน้ำอสุจิ
  • โรคทางพันธุกรรม ที่ส่งผลต่อความสามารถในการผลิตอสุจิที่ลดลง อย่างเช่น โรคดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เป็นต้น
  • ภาวะเส้นลำเลียงน้ำเชื้ออสุจิโป่งพอง (varicocele) หรือภาวะที่หลอดเลือดดำที่อยู่ภายในถุงอัณฑะเกิดการโป่งพองจนขัดขวางการเคลื่อนตัวของอสุจิ ซึ่งจะทำให้คุณภาพของน้ำอสุจิลดลง
  • โรคร้ายแรงต่าง ๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่อวัยวะเพศและอวัยวะสืบพันธุ์ อย่างเช่น โรคหนองใน โรคเริมอวัยวะเพศ โรคต่อมลูกหมากอักเสบ หรือโรคท่อน้ำเชื้ออักเสบ เป็นต้น
  • พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาทิเช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่จัด การติดสารเสพติด หรือการหักโหมทำงานหนัก เป็นต้น

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบเจอได้บ่อยในฝ่ายหญิง

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบเจอได้บ่อยในฝ่ายหญิงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุเช่นเดียวกันกับฝ่ายชาย โดยแต่ละสาเหตุนั้นก็มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

  • การเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลให้การตกไข่อาจมีการคลาดเคลื่อนไป จนทำให้ไม่สามารถนับวันไข่ตกเพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการมีลูกโดยวิธีธรรมชาติได้อย่างแม่นยำ
  • การเกิดความผิดปกติของท่อนำไข่ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาวะท่อรังไข่อุดตัน การมีเนื้องอกในมดลูก การมีพังผืดเกิดขึ้นในช่องเชิงกรานหรือที่ปีกมดลูกจนส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดอุ้งเชิงกราน ตลอดจนการเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สามารถพบเจอได้บ่อยในผู้หญิงที่อยากมีลูก
  • การเกิดความผิดปกติที่มดลูกและปากมดลูก (Uterine / Cervical Factor) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพร่างกายและอายุที่เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น เนื้องอกในโพรงมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก พังผืดในโพรงมดลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการฝังตัวของตัวอ่อนจนนำไปสู่การเกิดความเสี่ยงในการแท้งบุตรที่เพิ่มมากขึ้น
  • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เนื่องจากการอักเสบหรือการเกิดพังผืดขึ้นที่บริเวณปากมดลูกจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รูของปากมดลูกเกิดการตีบแคบลงจนทำให้อสุจิสามารถเข้าไปผสมกับไข่ที่อยู่ในโพรงมดลูกได้อย่างลำบากมากยิ่งขึ้น
  • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย หรือการหมดประจำเดือนตั้งแต่ช่วงอายุก่อน 40 ปีขึ้นไป เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รังไข่ของฝ่ายหญิงหยุดทำงานลง ซึ่งจะส่งผลต่อการหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและหยุดการกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ที่จะนำไปสู่การตกไข่ จนทำให้ฝ่ายหญิงไม่มีประจำเดือนและหมดโอกาสที่จะมีลูกได้นั่นเอง
  • ปัญหาความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงาน ครอบครัว หรือรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งจะส่งผลทำให้คู่แต่งงานมีความต้องการทางเพศที่ลดน้อยลงจนนำไปสู่ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ที่น้อยลง และโอกาสในการตั้งครรภ์ที่น้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน

ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

แม้ว่าภาวะมีบุตรยากส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้งคู่ แต่ทว่าในปัจจุบันนี้ ราว ๆ 10% ของคู่สามีภรรยาที่มาเข้ารับการตรวจประเมินร่างกายเนื่องจากอยากมีลูกนั้น กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained Infertility) หรือภาวะที่คู่แต่งงานไม่สามารถตั้งครรภ์หรือมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้แม้ว่าทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะไม่มีความผิดปกติใด ๆ และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมากก็ตาม

โดยสำหรับคู่สามีภรรยาที่กำลังประสบกับภาวะมีบุตรยากแบบไม่มีสาเหตุนั้น ทีมแพทย์จะแนะนำให้คู่สามีภรรยาเริ่มต้นทำการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยในการเจริญพันธุ์ในทันที โดยมักจะเริ่มต้นจากวิธี IUI (Intrauterine Insemination) หรือวิธีการฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อให้อสุจิสามารถจับและผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น โดยหากคู่สามีภรรยาลองทำการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการทำ IUI ที่มีความใกล้เคียงกับวิธีการมีลูกโดยธรรมชาติไปประมาณ 3-6 รอบแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ ทีมแพทย์จะแนะนำให้พิจารณาเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization – IVF) หรือ ICSI เป็นลำดับต่อไป

สำหรับคู่รักหรือคู่แต่งงานที่อยากมีลูกแต่ประสบปัญหาภาวะมีลูกยาก ที่ Genesis Fertility Center คลินิกบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก เราพร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการเลือกวิธีการรักษาด้วย เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ Assisted reproductive technology (ART) ไม่ว่าจะเป็นการทำ IUI, IVF/ICSI ที่มีความเหมาะสมกับตัวคนไข้ โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เพื่อช่วยให้คนไข้ของเรามีโอกาสได้รับตัวอ่อนที่ดีและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากที่สุด

Call Center 097-484-5335
เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 20.00 น. หรือ
เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น.