IVF ‘ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์’ ตัวช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
เมื่อคู่รักต้องประสบกับภาวะมีบุตรยากแต่อยากมีลูก และกำลังอยู่ระหว่างการหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเข้ารับการรักษาร่วมกับแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) หรือการทำอิ๊กซี่ (ICSI) ก็ตาม เพื่อให้คู่รักเข้าใจมากยิ่งขึ้น และทำความรู้จัก ‘ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์’ ตัวอ่อนระยะที่ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการฝังตัว และเกิดการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น
บลาสโตซิสต์ คืออะไร
ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) เป็นกลุ่มของเซลล์ที่แบ่งตัวจากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่นำไปสู่การตั้งครรภ์ ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 วัน หลังจากที่อสุจิปฏิสนธิกับไข่ เซลล์ด้านในของบลาสโตซิสต์จะมีการแบ่งเซลล์มากถึง 80 – 120 เซลล์ ซึ่งประกอบไปด้วย เซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์รกที่พร้อมฝังตัวสู่โพรงมดลูก จึงเรียกได้ว่าเป็นระยะพร้อมฝังตัว และกลายเป็นโครงสร้างที่ปกป้องและบำรุงเลี้ยงทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนา
ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) เป็นชื่อเรียกของระยะตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิและเจริญเติบโตในระยะเวลา 5-6 วัน ซึ่งบลาสโตซิสต์จากการทำ IVF/ICSI นั้นจะถูกเลี้ยงในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่ดีและมีคุณภาพ โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์ดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเพาะเลี้ยงต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง สารอาหาร(น้ำยาเลี้ยงตัวอ่อน) และ อากาศ(ก๊าซ)ที่เหมาะสม เป็นระยะเวลา 5-6 วัน จนได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่แข็งแรงและเหมาะสมจึงย้ายกลับไปเพื่อฝังตัวเข้าสู่โพรงมดลูก
บลาสโตซิสต์มีความสำคัญอย่างไรต่อการตั้งครรภ์
ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ เป็นตัวอ่อนระยะที่สำคัญอย่างยิ่งและมีผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนและทารกในครรภ์ หากตัวอ่อนไม่ฝังในเยื่อบุโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง การตั้งครรภ์จะไม่เกิดขึ้นและกลายเป็นประจำเดือนออกมา หากตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์เข้าสู่มดลูก เซลล์ด้านนอกของบลาสโตซิสต์จะเกาะติดกับผนังชั้นนอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ในขั้นตอนการฝังตัวจะมีการปล่อยโปรตีนเหนียวที่เรียกว่า L-selectin ซึ่งจับกับสารในเยื่อบุโพรงมดลูก บลาสโตซีสต์ที่ฝังตัวได้สมบูรณ์จะกลายเป็นทารกในครรภ์ในที่สุด
ขณะที่เซลล์ด้านนอกของบลาสโตซิสต์ฝังลึกเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก เซลล์เหล่านี้กลายเป็นรกซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนา เซลล์รกบางส่วนยังสร้างถุงน้ำคร่ำ โดยที่ถุงน้ำคร่ำประกอบด้วยของเหลวใสที่ล้อมรอบและป้องกันทารกในครรภ์นั่นเอง
บลาสโตซิสต์มีความสำคัญต่อการทำ IVF ICSI อย่างไร
ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) เป็นระยะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่จะตรวจวัดคุณภาพของตัวอ่อน และเป็นระยะที่ทำได้ง่ายกว่าระยะอื่นๆ ซึ่งในระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF/ICSI ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจะประเมินและจัดเกรดบลาสโตซิสต์ตามความสมบูรณ์ รูปร่าง จำนวนเซลล์ และความหนาแน่น ในห้องปฏิบัติการเพื่อพิจารณาว่า ตัวอ่อนตัวใดมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์ได้มากที่สุด โดยเกรดของตัวอ่อนจะถูกแบ่งเป็น A B C ตามลำดับ ซึ่งการแบ่งเกรดตัวอ่อนนั้นจะยึดหลักการคัดเกรดของ Gardner and Schoolcraft (1999) โดยจะมีการแบ่งตามลักษณะของตัวอ่อน 3 ระยะ ได้แก่
1. Expansion เป็นการขยายตัวของเซลล์ตัวอ่อน โดยจะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ
· Early Blastocyst
· Blastocyst
· Full Blastocyst
· Expanded Blastocyst
· Hatching Blastocyst
· Hatched BlastocystICSI
2.Inner Cell Mass (ICM) เป็นกลุ่มของเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและไปฝังตัวที่มดลูก แบ่งออกเป็น 3 เกรด
· เกรด A หมายถึง เกรดตัวอ่อนที่มีจำนวนเซลล์มาก มีความยึดเกาะกันเป็นกลุ่ม
· เกรด B หมายถึง เกรดตัวอ่อนที่มีจำนวนเซลล์ไม่เยอะและเซลล์ค่อนข้างกระจัดกระจาย
· เกรด C หมายถึง เกรดตัวอ่อนที่มีจำนวนเซลล์น้อยมากและบางตัวก็ไม่สามารถมองเห็นได้เลย
3.Trophectoderm เป็นกลุ่มของเซลล์ที่จะยึดเกาะและฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ แบ่งออกเป็น 3 เกรด
· เกรด A หมายถึง เกรดที่มีการเรียงตัวของเซลล์อย่างสม่ำเสมอ สวยงาม มีขนาดเซลล์เท่าๆ กัน
· เกรด B หมายถึง เกรดที่มีเซลล์ที่เรียงตัวกันไม่ค่อยดี มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
· เกรด C หมายถึง เกรดที่มีเซลล์จำนวนน้อยมาก
ข้อดีตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ในการทำ IVF ICSI
· เป็นการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี เมื่อตัวอ่อนเติบโตมาถึงระยะบลาสโตซิสต์ นักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุด และย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกหรือเเช่แข็งเพื่อใส่กลับในรอบที่เหมาะสม การใส่ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ตามที่เลือกไว้นั้น มีส่วนช่วยให้มีการตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น ทำให้สามารถลดระยะเวลารอการตั้งครรภ์ลงไปได้
· ลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์แฝด เพราะการตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของทั้งแม่และทารกในครรภ์หลายประการเช่น ทารกตายในครรภ์ หรือ คลอดก่อนกำหนด โดยวิธีการนี้แพทย์จะทำการย้ายตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่คุณภาพดี 1 ตัว จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 40-50% และหากตัวอ่อนได้รับการตรวจคัดกรองโครโมโซมและผลออกมาปกติ โอกาสการตั้งครรภ์จะสูงถึง 70%
· เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ การทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI ด้วยการเลี้ยงตัวอ่อนระยะที่เหมาะสม เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสต์ การเลือกใส่ตัวอ่อนระยะนี้ช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์
· ตรวจโครโมโซมผิดปกติของตัวอ่อน นักวิทยาศาสตร์สามารถดึงเซลล์ด้านนอกของตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์เพื่อมาตรวจโครโมโซม 23 คู่ด้วยผลที่แม่นยำถึง 99 % และยังเป็นวิธีการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมสำหรับกลุ่มแม่ที่มีอายุเกิน 35 ปี หรือแม่ที่มีภาวะแท้งบ่อย
· การคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้มั่นใจว่าตัวอ่อนมีคุณภาพและไม่มีความผิดปกติในระดับโครโมโซมแฝงอยู่ เช่น โรคธารัสซีเมียชนิดรุนแรง ที่สำคัญการตรวจโครโมโซมในระยะนี้ไม่มีผลกับการตั้งครรภ์ เพราะเป็นการดึงเซลล์จากรก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับตัวอ่อนแต่อย่างใด
· ตัวอ่อนที่เหลือสามารถเก็บแช่แข็งได้ การย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกด้วยจำนวนที่เหมาะสม ทำให้ยังเหลือตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี และสามารถเก็บแช่แข็งไว้ได้ ซึ่งในกรณีที่คู่รักไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ สามารถนำตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ย้ายในรอบถัดๆ ไปได้
สำหรับข้อจำกัดของตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ การเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่มีจำนวนไข่น้อย และตัวอ่อนไม่มากนั้น ถ้าเลี้ยงไปจนถึงวันที่ 5-6 ตัวอ่อนอาจเหลือย้ายกลับสู่โพรงมดลูกจำนวนน้อย ซึ่งสาเหตุนี้มาจากตัวอ่อนไม่โตต่อหรือคุณภาพไม่ดี ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่จะเติบโตเป็นระยะบลาสโตซิสต์หรือไม่นั้น นอกจากเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง ห้องปฎิบัติการ และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ชำนาญการแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณภาพของตัวอ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากเซลล์ไข่ที่มีคุณภาพของฝ่ายหญิง และสเปิร์มที่มีคุณภาพของฝ่ายชาย
การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับคู่รักที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI เพื่อให้ได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่มีคุณภาพดีที่สุด คู่รักควรบำรุงร่างกายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ด้วยการรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ทานวิตามินเสริมที่จำเป็น เพื่อบำรุงเซลล์ไข่และสเปิร์มให้สมบูรณ์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ในการเก็บไข่และเก็บน้ำเชื้อ รวมทั้งรักษาโรคต่างๆ อาทิ ติ่งเนื้อ เนื้องอก ท่อนำไข่อุดตัน การบวมน้ำที่เป็นอุปสรรคก่อนการย้ายตัวอ่อน เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมบำรุงผนังมดลูกให้หนาตามเกณฑ์ให้พร้อมก่อนใส่ตัวอ่อน
โอกาสในการประสบความสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI ขึ้นอยู่กับคุณภาพตัวอ่อนที่ดี และเมื่อคู่รักรู้แล้วว่าตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์มีความสำคัญอย่างไร ควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรงและสมบูรณ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา
หากคุณคือคู่รักที่ต้องการปรึกษาโรคภาวะมีลูกยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI Genesis Fertility Center คลินิกสำหรับผู้มีบุตรยาก พร้อมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผู้ที่กำลังประสบภาวะมีบุตรยาก ตั้งแต่การตรวจหาสาเหตุ ตลอดจนการเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม คุ้มค่าและมีโอกาสประสบความสำเร็จ เติมเต็มคำว่าครอบครัว
สามารถปรึกษาได้ที่
Call Center 097-484-5335
เวลาทำการ : จันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 20.00 น. หรือ
เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 20.00 น.