Skip to content Skip to footer

บริการ COUNSELING

ให้คำปรึกษาตรวจหาสาเหตุรักษาภาวะมีบุตรยาก (Counselling investigation and treatment of infertility problem)

ให้คำปรึกษาตรวจหาสาเหตุรักษาภาวะมีบุตรยาก (Counselling investigation and treatment of infertility problem)

หากคู่สมรสท่านใดวางแผนจะมีบุตรโดยไม่ได้คุมกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมออย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือมีในช่วงที่ไข่ตก โดยพยายามเกิน 1 ปีแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ แสดงว่าท่านมีปัญหาภาวะมีบุตรยาก หรือหากได้พยายามเกิน 6 เดือนในคู่สมรสที่ภรรยาอายุมากว่า 35 ปี ก็จัดว่ามีปัญหามีบุตรยากแล้วแนะนำให้รีบเข้ารับคำปรึกษาที่ GFC ซึ่งเราจะมีสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาลและนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นอย่างดีคอยช่วยเหลือท่าน

การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ

ปัจจุบันพบว่า ภาวะมีบุตรยากพบได้บ่อยโดยทุกเจ็ดคู่สมรสที่พยายามจะมีบุตร จะพบปัญหานี้อย่างน้อยหนึ่งคู่ ซึ่งพบสาเหตุมาจากทั้งฝ่ายหญิงและชายใกล้เคียงกัน สาเหตุบางส่วนเกิดร่วมกัน ดังนั้นจึงควรเข้ามารับการตรวจวินิจฉัยทั้งคู่ เพื่อค้นหาสาเหตุ เมื่อคู่สมรสที่เข้ามารับการรักษาที่ GFC Clinic เราจะสืบค้นประวัติ เช่น อายุ ระยะเวลาการพยายามมีบุตร ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้ง ประวัติโรคประจำตัว สุขภาพทั่ว ๆ ไป เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

ฝ่ายชาย จะได้รับการ ตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติของอัณฑะและอวัยวะเพศ มีตรวจวิเคราะห์จำนวน, รูปร่าง และคุณภาพของน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของอสุจิ

ฝ่ายหญิง จะได้รับการตรวจภายใน, อัลตราซาวด์ เพื่อประเมิน อุ้งเชิงกราน มดลูก และรังไข่ เจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อประเมินการทำงานของรังไข่ วิธีตรวจพิเศษ เช่น การฉีดสีเพื่อประเมินโพรงมดลูก และท่อนำไข่ การส่องโพรงมดลูก หรือส่องกล้องหน้าท้อง เมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว จะวิเคราะห์หาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมของในแต่ละคู่สมรส เพื่อให้ท่านประสบความสำเร็จในการมีบุตร

ขั้นตอนและการวางแผนเพื่อการรักษา
  1. การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มรักษา สามีและภรรยาที่จะเริ่มการรักษาที่ GFC Clinic ควรได้รับคำแนะนำในการเตรียมสุขภาพก่อนการรักษาดังนี้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง เข้านอนก่อนเที่ยงคืน และผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวล จะช่วยปรับระดับฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ให้สมดุล ช่วยทำให้ท้องง่ายขึ้นออกกำลังกาย สม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร จะช่วยการทำงานรังไข่ตอบสนองต่อฮอร์โมนและการรักษาได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้งห้าหมู่ เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการบำรุงสุขภาพร่างกาย และเพิ่มคุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ไข่และน้ำเชื้อ อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนเข้ารับการรักษา เช่น
  • โฟลิกเอซิด (Folic acid) รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม ทั้งชายและหญิง
  • โคเอนไซม์คิวเท็น (Co-enzyme Q10) วันละ 60-100 มิลลิกรัม ทั้งชายและหญิง
  • ซิงค์ (Zinc) วันละ 50 มิลลิกรัม สำหรับชาย
  • วิตามินซี (Vitamin C) วันละ 1,000 มิลลิกรัม สำหรับชาย
  • แอลอาร์จินีน (L-Argenine) วันละ 1,000 มิลลิกรัม สำหรับหญิง
  • ดีเอชอีเอ (DHEA) วันละ 100 มิลลิกรัม สำหรับหญิง
  • แคลเซียม (Calcium) วันละ 1,000 มิลลิกรัม และวิตามินดี (Vitamin D) 400 IU สำหรับหญิง
  • วิตามินอี (Vitamin E) 800-1,000 IU ต่อวัน สำหรับหญิง
  • หยุดการสูบบุหรี่ ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น มีข้อมูลยืนยันว่าในฝ่ายหญิงรังไข่จะทำงานได้ดีขึ้นทั้งจำนวนและคุณภาพ ลดอัตราการท้องนอกมดลูกและเพิ่มอัตราการคลอดมีชีวิตสูงขึ้น ในฝ่ายชายจะทำให้คุณภาพและน้ำเชื้ออสุจิดีขึ้นอย่างชัดเจน
  1. งดดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด เพื่อลดความพิการของทารก, หลีกเลี่ยงกาแฟ ชา คาเฟอีน เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์
  2. ควรตรวจประเมินเฉพาะก่อนการตั้งครรภ์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่มีโรคประจำตัวเฉพาะ เช่น เบาหวาน, ความดันโรคหัวใจ, ไทรอยด์ผิดปกติ เพื่อรักษาให้ดีก่อนจะตั้งครรภ์
การตรวจประเมินทั่วไป

ก่อนเริ่มการรักษาที่ GFC Clinic แพทย์จะมีการตรวจเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  1. ตรวจเลือดเพื่อหาโรคติดเชื้อไวรัสต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการถ่ายทอดไปยังทารก เช่น เอชไอวี (HIV) ตับอักเสบบี (Hepatitis B) ตับอักเสบซี (Hepatitis C) โรคซิฟิลิส (Syphilis)
  2. ตรวจคัดกรองโรคหัดเยอรมันเพื่อให้วัคซีนป้องกันก่อนเริ่มการตั้งครรภ์
  3. ตรวจคู่สมรสเพื่อคัดกรองโรคเลือดจางธาลัสซีเมียเพื่อลดความเสี่ยงในบุตร
  4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและส่งตรวจเพิ่มเติมหากพบความผิดปกติ
  5. ในครอบครัวที่มีประวัติการคลอด ทารกที่ผิดปกติ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสติปัญญาอ่อน ตาบอดสี อาจต้องมีการส่งตรวจทางพันธุกรรมเพิ่มเติมก่อนเริ่มรักษา
  6. แพทย์จะประเมินความพร้อมทางจิตใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเครียด หรือ ปัญหาสุขภาพจิตอันจะส่งผลต่อกระบวนการการรักษา
การตรวจประเมินที่เกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก

ฝ่ายหญิง : แพทย์จะซักประวัติเพื่อหาสาเหตุ และตรวจประเมินภายในด้วยการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูความพร้อมของมดลูก, ท่อนำไข่, รังไข่ ซึ่งบอกถึงความสามารถของการตั้งครรภ์ การประเมินเซลล์ไข่คงเหลือ โดยการนับจำนวนไข่ จากอัลตราซาวด์ (Antral Follicle) หรือตรวจวัดระดับฮอร์โมนต่อมใต้สมองและรังไข่ เช่น

Anti-Mullerian Hormone (AMH), Follicle Stimulating Hormone (FSH) เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการทำงานของรังไข่เชิงปริมาณ (Ovarian reserve) ช่วยเลือกการวิธีรักษาที่เหมาะสมและใช้ประมาณโอกาสสำเร็จของการตั้งครรภ์ด้วย

ฝ่ายชาย : ตรวจน้ำเชื้ออสุจิ (Sperm Analysis) เพื่อประเมินจำนวนและคุณภาพของเชื้อ ก่อนการตรวจแนะนำให้งดหลั่งน้ำเชื้อมาก่อน 3 – 7 วัน ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนวันตรวจ มีการตรวจพิเศษ DNA fragmentation test เพื่อดูความสมบูรณ์และคุณภาพของตัวอสุจิ เป็นต้น